Cultural Agriculture

เกษตรวัฒนธรรม…
คืน ความศักดิ์สิทธิ์ให้ ผืนแผ่นดิน
ขับเคลื่อน สังคมเกษตร ที่มี ธรรมะ
สู้ กับ ทุนนิยม บริโภคนิยม

วรพจน์ สิงหา เรื่อง/ภาพ

“การที่เราจะทำเกษตรต้องเริ่มต้นที่ใจเรา… สิ่งมีชีวิตบนโลกนี้ไม่ใช่มีแต่สัตว์ มีแต่มนุษย์ แม้แต่ระบบนิเวศ สิ่งเล็กๆ ทุกอย่าง เขาก็มีชีวิต มีลมหายใจ มีการสืบทอด”

คำพูดของ เจริญ ดินุ วัย ๓๑ ปี 
เกษตรกรรุ่นใหม่ผู้จบหลักสูตรเกษตรวัฒนธรรม รุ่นที่ ๑

ในโลกที่นิยามความหมายของการพัฒนาและความเจริญรุ่งเรืองไว้ที่วัตถุและการบริโภค อัตลักษณ์ชุมชนท้องถิ่นถูกทำลายลง เยาวชนจำนวนมากถูกสอนให้เชื่อว่าการทำการเกษตรคือความล้าหลัง ด้อยศักดิ์ศรี ไม่มีคุณค่าในตัวเอง เกษตรกรคืออาชีพที่ยากลำบาก ติดหนี้ติดสิน การทำงานกับผืนดินเป็นเรื่องสกปรก จากชีวิตที่เคยอยู่อย่างเรียบง่ายและมีความสุข การเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในรอบหลายสิบปีที่ผ่านมา ส่งผลให้ชุมชนท้องถิ่นทั่วประเทศไทยตกอยู่ในวังวนแห่งการ “ด้อย” พัฒนาไม่แตกต่างกัน

ใช่ไหมว่าที่ผ่านมา ยิ่งพัฒนา เรายิ่งเป็นทุกข์ ยิ่งพัฒนา เรายิ่งล้มเหลวในการอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข…

ผู้ใหญ่หลายท่าน ทั้งพระสงฆ์ ปราชญ์ชาวบ้าน นักวิชาการ และผู้ที่ทำงานกับชุมชน ต่างเห็นตรงกันว่าการพัฒนาที่แท้จริงคือการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้คนให้อยู่อย่างสงบร่มเย็น อยู่กับธรรมชาติอย่างสำนึกรู้คุณ การทำงานกับผืนดินคือสิ่งที่มีคุณค่าควรเคารพ ส่วนการพัฒนาใดๆ ที่เน้นเพียงวัตถุและการเติบโตทางเศรษฐกิจเป็นเพียงภาพมายาและให้ความสุขกับชีวิตคนในระยะสั้นเท่านั้น

นำคุณค่าศาสนาและวัฒนธรรมกลับคืนมาสู่โลก

คุณพ่อนิพจน์ เทียนวิหาร

ศูนย์วิจัยและฝึกอบรมศาสนาและวัฒนธรรมชุมชน จ.เชียงใหม่ นำโดย คุณพ่อนิพจน์ เทียนวิหาร ได้มีการเปิด “หลักสูตรการอบรมเกษตรวัฒนธรรม” เริ่มรุ่นแรกตั้งแต่ปี ๒๕๕๗ มีเยาวชนจากหมู่บ้านต่างๆ เข้ารับการอบรม โดยปีนี้เป็นรุ่นที่ ๒ มีเยาวชนจากกลุ่มชาติพันธุ์ประมาณ ๒๐ กว่าคน เข้ารับการอบรม ซึ่งหลักสูตรนี้จะใช้ระยะเวลาประมาณ ๖ เดือน สอนทั้งทฤษฎีและปฏิบัติ หลังจากนั้นจะมีการติดตามประเมินผลผู้เข้ารับการอบรมแต่ละคนอย่างต่อเนื่อง

คุณพ่อนิพจน์ เทียนวิหาร ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและฝึกอบรมศาสนาและวัฒนธรรมชุมชนอธิบายว่า “เกษตรวัฒนธรรม” ไม่ใช่เป็นเพียงโครงการที่ตั้งขึ้นมาเท่านั้น แต่เป็นกระบวนการและประสบการณ์อันยาวนานของศูนย์วิจัยและฝึกอบรมฯ ที่ทำงานกับชุมชนมายาวนาน ๓๐ – ๔๐ ปี โดยเป็นการทำงานที่ให้ความสำคัญกับวิถีชีวิตที่สอดคล้องกับวัฒนธรรมของชนเผ่า ไม่ว่าจะเป็นกะเหรี่ยง ลัวะ อาข่า ลาหู่ หรือ ม้ง 

ปัจจุบันเยาวชนมองว่าการทำเกษตรเป็นความล้าหลัง
ลำบาก ติดหนี้ติดสิน ไม่สำเร็จในชีวิต ต้องทำงานหนักในไร่นา ต้องไปหางานทำในเมือง
และเด็กไม่อยากกลับบ้าน คิดว่าการกลับบ้านคือเหมือนไปไหนไม่รอด ต้องมาตายที่บ้าน
หรือล้มเหลวในชีวิต กระแสบริโภคนิยมต้องการที่จะได้รถอะไรต่างๆ
ทีนี้กลุ่มของเราที่มีแนวทางศาสนาวัฒนธรรมได้ทำงานมาเป็นระยะเวลา ๓๐-๔๐ ปี
เราจะต้องฝึกคนเพื่อที่จะกลับบ้านเหมือนเดิม แต่เน้นที่จะให้ทักษะทางการเกษตรด้วย
เพื่อเขาจะสามารถพึ่งตนเองได้ นี่คือเบื้องหลังทั้งหมด
ตอนนี้เรามีนักคิดชาวบ้านที่เราสร้าง ๒๐๐ – ๓๐๐ คน ในหมู่บ้าน
ก็คุยกันว่าจะทำอย่างไรเพื่อที่เราจะสร้างพื้นที่ที่จะให้เห็นเป็นแม่แบบว่าการเกษตรที่รักษาสิ่งแวดล้อมตามความเชื่อในประเพณีเดิม
ว่าสิ่งสร้างนั้นเป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ สิ่งสร้างนั้นมีเจ้าป่าเจ้าเขา
พระเจ้าเป็นพระผู้สร้าง แต่มนุษย์เป็นผู้ทำลาย ส่วนในแง่ของความเชื่อวัฒนธรรม
คือโลกทัศน์ของกลุ่มชาติพันธุ์มองว่าสิ่งสร้างทั้งหลายเป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์
จะทำอย่างไรให้สิ่งเหล่านี้กลับคืนมา”

คุณพ่อนิพจน์อธิบายว่า ที่ผ่านมา ยิ่งการเกษตรกระแสหลักขยายเข้าไปในชุมชนมากเท่าใด กระแสนี้ยิ่งทำให้เกิดการผลิตเพื่อการตลาด ทำให้เกิดวิกฤติ ติดหนี้ติดสิน ชาวบ้านต้องกู้เงิน เป็นวงจรไม่จบสิ้น “บางคนก็อาจจะได้ บางคนก็อาจจะแย่ สิ่งสำคัญคือการใช้สารเคมี เพราะเวลาปลูกพืชพวกนี้ต้องใช้สารเคมี ต่างคนก็ต่างทำ แทนที่จะร่วมกันทำ วิถีชีวิตก็เปลี่ยนแปลง ส่วนที่สองคือกระแสเรื่องการศึกษาของเด็กในชนบท ไปเรียนแล้วก็ออกไปจากชุมชน ออกไปรับใช้ทำงานในเมือง ในโรงงานหรือบริษัท คนที่จะกลับบ้านจริงๆ ก็เป็นพวกที่ตกหล่นทางสังคม อันนี้เป็นปัญหาของชุมชนว่าสำหรับชนเผ่าคนที่ทำเกษตรเหลือแต่คนที่อายุ ๔๕ ปีขึ้นไป คือคนไทยเฉลี่ยแล้ว คนทำเกษตรอายุ ๕๐ ปีขึ้นไป เยาวชนที่กลับมาทำเกษตรมีน้อยมาก”

 

ในสถานการณ์แบบนี้ คณะกรรมการชุมชนที่คุณพ่อนิพจน์และเจ้าหน้าที่ของศูนย์วิจัยและฝึกอบรมฯ ไปทำเครือข่ายกองบุญข้าวจึงเริ่มคิดว่าจะทำอย่างไรเมื่อเผชิญกับปัญหานี้ ชาวบ้านกับคุณพ่อนิพจน์จึงประชุมกันเพื่อร่วมกันค้นหาทางออกให้กับชุมชนและเยาวชนกลุ่มชาติพันธุ์ ซึ่งแนวทางของการทำงานมีพัฒนาการมาตั้งแต่ปี ๒๕๒๓ ว่าการทำงานต้องมาจากฐานวัฒนธรรมชุมชน “การพัฒนา การแพร่ธรรมอะไรก็ตาม จะต้องนำวัฒนธรรมชุมชนขึ้นมา และศาสนาคริสต์ต้องไปเสวนากับวัฒนธรรมของประชาชน ซึ่งโลกทัศน์ หัวใจของวัฒนธรรมก็คือความสัมพันธ์ที่มนุษย์มีต่อกันและกันในชุมชน และกับพระผู้เป็นเจ้า นี่คือแนวทางการทำงานของเรามาโดยตลอด” 

อธิษฐานภาวนาก่อนเริ่มการเก็บเกี่ยว

คุณพ่อนิพจน์อธิบายให้ฟังว่าโลกปัจจุบันเป็นโลกทุนนิยม มองทุกอย่างเป็นทรัพยากร เปลี่ยนจากแม่ธรณี ธรรมชาติเป็นสินค้า จากสินค้ากลายเป็นเงิน กระแสหลักของการพัฒนาเกษตรกับการพัฒนาระบบทุน คือการนำความศักดิ์สิทธิ์และคุณค่าทั้งธรรมชาติและความเชื่อดั้งเดิมออกไปจากความคิดของคน เป็นการมองป่าเขาและสายน้ำจากที่เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ กลายเป็นไม่มี พอไม่มีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ก็กลายเป็นการเกษตรแบบที่เน้นเอาเงินและการปลูกพืชตามกระแส 

คุณพ่อนิพจน์กล่าวไว้ว่า โลกสมัยใหม่ที่มีการผลิตแบบทุนนิยม วัตถุนิยม เห็นทุกอย่างเป็นสินค้า ทุนนิยม วัตถุนิยม ทำให้ระบบความศักดิ์สิทธิ์หายไป ให้ผลิตเป็นสินค้าและตลาด ทำให้โลกมีวิกฤติ ทำอย่างไรให้กลับมา เราจะนำคุณค่า ความหมาย ความศักดิ์สิทธิ์กลับมาในกระบวนการผลิตการเกษตร คนที่เรียนหนังสือก็ถูกระบบครอบงำ ในฐานะที่เราเป็นองค์กรศาสนาและเน้นแนวทางศาสนาวัฒนธรรม เราจะเอาโลกทัศน์ของเรามาสร้างใหม่ นี่คือกระบวนการ จากข้อสรุปของเรา ๔๐ ปี เราจะสู้กับวัตถุนิยมทุนนิยม จากฐานของคุณค่าศาสนาวัฒนธรรมและพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ ในวิถีชีวิต การเกษตร และพระผู้เป็นเจ้า”

“เราไม่ใช่ให้เด็กมาทำเกษตรแล้วก็จบ แต่ในการทำเกษตรจะมารื้อฟื้นโลกทัศน์ จะเห็นว่าแผ่นดินมีชีวิต ชีวิตกับผืนแผ่นดินจะประสานกันอย่างไร เราอยู่ได้ด้วยดิน ด้วยลม ด้วยน้ำ ด้วยแสงแดด ด้วยอาหาร ทั้งหมด นี่คือสิ่งที่สร้างกรอบคิดถึงความสัมพันธ์ ซึ่งทั้งหมดนี้ในมหาวิทยาลัยไม่มีสอน ส่วนใหญ่จะสอนเรื่องเทคนิคการเกษตรทั้งหมด การนำเอาคุณค่าศาสนาวัฒนธรรม ความเชื่อในพระผู้เป็นเจ้า มิติศักดิ์สิทธิ์ กลับคืนมาสู่โลกได้อย่างไร นี่คือประเด็น” 

โลกสมัยใหม่ทั้งหมดเข้าสู่วงจรนี้หมดเลย วงจรนี้คือพื้นที่ที่ไม่มีพระเจ้า พื้นที่ที่ไม่มีคุณค่าภายใน โลกคือทุนนิยม วัตถุนิยม บริโภคนิยม เห็นแก่ตัว เพราะว่ามันเตะคุณค่าของชีวิตออกไป ที่นี้เราจะสอนไปตามปกติ เราจะสอนศาสนาที่แยกออกไปจากชีวิต เราก็เห็นทั่วไป วัดเยอะแยะ วัดมีเยอะ แต่โลกยังเป็น Secular ไม่เกี่ยวกับเรื่องศาสนา ยังเป็นวัตถุนิยม ยังมีกิเลสตัณหาเต็มไปหมด วัดก็เยอะไปหมด ใหญ่โต สร้างทีเป็นร้อยๆ ล้าน แต่โลกยังไม่เปลี่ยน”

“ทฤษฎีความเป็นสมัยใหม่มันทำลายโลก ตอนนี้คนทุกคนต้องการทันสมัย ชนเผ่าชนพื้นเมืองล้าสมัย เรามองคนที่เข้าไปอยู่ในกระแสของความเป็นสมัยใหม่ เรามองว่าคุณตกหลุมแล้ว คุณตกหลุมสมัยใหม่ คุณตกหลุมเทคโนโลยี แม้แต่วิทยาศาสตร์สมัยใหม่ นี่คือข้อสรุปว่ากระบวนการ ๔๐ ปี ไม่ใช่อยู่ๆ เราก็ใช้คำว่าเกษตรวัฒนธรรม แต่มาจากการดิ้นรนต่อสู้ การแสวงหาว่าเราจะพึ่งตัวเองทั้งในวิธีการ วิธีคิด และปรัชญาชีวิตของเรา เราจะอ่านพระวรสารจากฐานของปรัชญาของเราได้อย่างไร จากโลกทัศน์ของเราได้อย่างไร เราจะอ่านพระวรสารจากคนฐานล่าง ซึ่งตรงนี้จะก่อให้เกิดการนำ

คุณค่าพระวรสารมาจากฐานของวัฒนธรรมและโลกทัศน์ เป็นฐานของชาวบ้าน ไม่ใช่จากนักเทวศาสตร์จากข้างนอก และไม่ใช่จากนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยด้วย แต่มาจากชาวบ้านที่ดิ้นรนต่อสู้ตลอด ๓๐ – ๔๐ ปีที่ผ่านมา มันมาจากการไตร่ตรองระดับชาวบ้านเอง และตอนนี้โลกเปลี่ยนมาพันปีที่ ๓ สิ่งที่สำคัญก็คือจะเกี่ยวข้องกับการทำลายสิ่งแวดล้อม เรื่องการเปลี่ยนแปลงทางอากาศ โลกร้อน ซึ่งการจะแก้ปัญหาโลกร้อน ซึ่งเป็นปัญหาเพราะกระแสของวิถีชีวิตสมัยใหม่ อุตสาหกรรม การเกษตรที่ทำลาย แต่รากฐานของชาวบ้านเป็นรากฐานที่รักษาสิ่งแวดล้อม นี่เป็นคำถามในระดับโลกได้” 

“คุณพ่อนิพจน์กล่าวไว้อย่างน่าคิดว่า “ปัจจุบันนี้คนมีความรู้มากขึ้น แต่ทรัพยากรก็หมดไปมากขึ้น ตอนนี้หลายประเทศในโลก เขารู้แล้วว่าวิทยาศาสตร์ที่ใช้เหตุผล ใช้เทคโนโลยี แต่ไม่มีศาสนา เป็นวิทยาศาสตร์ที่ขาดมิติชีวิตภายใน ศาสนาหายไปจากองค์ความรู้ ปัจจุบันคนต้องการศาสนา แต่ไม่ใช่ศาสนาแบบวัด แต่เป็นศาสนาที่มีพลังในการเคลื่อนไหวอยู่ในชีวิตประจำวัน”

เยียวยาโลกที่กำลังโอดครวญ อนาคตที่ยั่งยืน คือ สิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน

หลักสูตรการอบรมเกษตรวัฒนธรรมแบ่งออกเป็น ๖ ขั้นตอน คือการเรียนรู้และทบทวนตัวเอง เรียนรู้คุณค่าและภูมิปัญญาท้องถิ่น การเข้าใจสังคม การทบทวนไตร่ตรองมิติภายใน ทฤษฎีและความรู้ทางการเกษตร และการปฏิบัติจาก ๑๐ ฐานอาชีพ โดยหลักสูตรเกษตรวัฒนธรรมเน้นการสร้างและพัฒนาเกษตรกรรุ่นใหม่ที่มีความสามารถในอาชีพและมีคุณธรรมในการดำเนินชีวิต ผลิตอาหารปลอดภัยให้ผู้บริโภค รักษาผืนดินและรักษาทรัพยากรธรรมชาติ และสร้างเครือข่ายผู้นำที่เข้มแข็งสามารถขับเคลื่อนสังคมเกษตรที่มีธรรมะ

พี่สุนทร หรือ ดร.สุนทร วงศ์จอมพร นักวิชาการอิสระ ศูนย์สังคมพัฒนา สังฆมณฑลเชียงใหม่ และศูนย์วิจัยและฝึกอบรมศาสนาและวัฒนธรรมชุมชน อธิบายให้ฟังว่าเด็กรุ่นใหม่ส่วนใหญ่ไม่เลือกเรียนทางด้านเกษตร สำหรับเด็กบนดอย เรียนเกษตรน้อยลงเพราะว่าหนึ่งคือตามกระแสการศึกษาแบบสมัยใหม่ ที่ต้องไปเรียนให้ได้วุฒิบัตร ใบปริญญา ตามระบบ ตามกระแส ในส่วนที่สองคือ พ่อแม่ก็มีส่วน พยายามผลักดันให้ลูกไปเรียนในลักษณะที่เรียนแล้วจะต้องสามารถที่จะมีเงินเดือนใช้ มองว่าอาชีพเกษตรไม่ก้าวหน้า ผู้ปกครองส่วนหนึ่งก็คิดอย่างนี้ “ทั้งผู้ปกครองและนักเรียน เขามีทัศนะว่าการทำอาชีพเกษตรกร เป็นอาชีพที่ลำบาก ไม่มีเกียรติมีศักดิ์ศรี เขาพยายามหนีออกจากตรงนี้ มองว่าเป็นอาชีพที่ล้าหลัง สกปรก ทำแล้วไม่มีคนยกย่อง มันไม่รวย คิดแบบนั้น” 

“เราพยายามย้อนความคิดเปลี่ยนทัศนคติของเยาวชนเรื่องการทำเกษตร การทำงานดิน ไม่ใช่งานที่สกปรก ไม่ใช่งานที่ต่ำต้อย ไม่ใช่งานที่ไร้ศักดิ์ศรี ตรงกันข้ามเป็นงานที่ยิ่งใหญ่ สุขแท้ที่เกิดจากงานดิน ความสุขที่เกิดจากงานดิน การทำงานกับผืนดิน เพราะเราถือว่าเป็นผู้ดูแลรักษาธรรมชาติสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะเรื่องการทำเกษตรอินทรีย์ เราเป็นผู้เลี้ยงดูชุมชน เราเป็นผู้สืบทอดอาชีพของบรรพบุรุษของเรา เป็นสิ่งที่เราพยายามจะให้เด็กๆ พวกนี้ มีแรงจูงใจว่าอาชีพเกษตรไม่ใช่อาชีพที่ล้าสมัย” 

เรารักษาสิ่งสร้าง เพราะว่าเราถือว่าทุกคนเป็นครอบครัวเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นคน สัตว์ ก็เป็นครอบครัวเดียวกัน อันนี้ตามโลกทัศน์ของชาวบ้าน อยู่ร่วมกัน พึ่งพาอาศัยกัน เหมือนที่หัวหน้าอินเดียนแดงบอกว่า ธรรมชาติอยู่ได้โดยไม่ต้องมีมนุษย์ แต่มนุษย์อยู่ไม่ได้ถ้าไม่มีธรรมชาติ ความคิดนี้คือเราต้องพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน เราจะต้องสำนึกว่าเราเป็นครอบครัวเดียวกัน เป็นพี่น้องกัน รักษาสิ่งสร้างของพระเจ้า เราจะต้องสร้างอาหารที่ปลอดภัยให้แก่มนุษย์ทุกคน ในชุมชน ให้ทุกคนที่กินอาหาร เหมือนบัญญัติประการที่ ๕ ที่ว่า “อย่าฆ่าคน” การฆ่าคนไม่ใช่แค่ว่าเอามีดไปฟันหรือเอาปืนไปยิง แต่ว่าการใช้สารเคมีก็คือการฆ่าคน ฆ่าสิ่งสร้างอื่นๆ ด้วย เราพยายามที่จะเชื่อมโยงให้เห็น”

อย่างที่คุณพ่อนิพจน์ตั้งคำถามว่าเราเป็นใคร มาจากไหน หมู่บ้านเราเป็นอย่างไร ครอบครัวเป็นอย่างไร เพื่อที่จะให้คนรุ่นใหม่ได้เรียนรู้ว่าชุมชนของเขามีอะไรดีๆ อีกเยอะ ไม่ใช่โลกข้างนอกเท่านั้นที่ดี บางทีเรามองข้ามจุดนี้ เราพยายามให้เด็กได้เรียนรู้จากสิ่งที่ใกล้ตัวที่สุด เรียนจากตัวเอง ครอบครัว สังคม สภาพภูมิอากาศ ดิน ภูเขา แม่น้ำ ความสัมพันธ์เป็นอย่างไร”

พี่สุนทรเน้นเรื่องของการปรับความคิดให้กับคนรุ่นใหม่ “คือคนรุ่นใหม่เขาหลุดออกจากโลกทัศน์แบบเดิม เขาตามกระแสไปไกล แต่การใช้สื่อก็มีความสำคัญ เพราะคนรุ่นใหม่สามารถใช้สื่อที่มีให้เป็นประโยชน์ อย่างหลายคนเขาเปิดเฟซบุ๊ค แต่นำเสนอวัฒนธรรมชนเผ่า ใส่เสื้อปกาเกอะญอ โพกหัว บรรเลงเตหน่า แล้วบรรยายถึงคำสอนของบรรพบุรุษถึงธรรมชาติสิ่งแวดล้อม หลายคนสนใจมาก มีทั้งเฟซบุ๊คและเว็บไซต์ อันนี้ก็ไปเร็ว ตอนนี้มีบางส่วนที่เรียนมหาวิทยาลัย บางส่วนก็วกกลับมา เขาจะเร็ว ถ้ามีโอกาสไปเสริม เขาจะตอบรับเร็ว” 

“อาจารย์จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่บอกว่าคนที่คิดจะเป็นมนุษย์เงินเดือนต่อไปจะยากขึ้น แต่ว่าคนที่สร้างอาชีพด้วยตนเองจะง่ายขึ้น คนหวังจะเป็นมนุษย์เงินเดือนเพราะดูว่ามั่นคง แต่ชีวิตอาจจะไม่ได้เป็นอย่างนั้น การสร้างงานด้วยตนเองจะมั่นคงมากกว่า เด็กรุ่นใหม่เมื่อเรียนจบแล้วไม่ใช่หางานทำ แต่เรียนจบแล้วต้องสร้างงานกับตัวเอง มากกว่านั้นก็สร้างงานให้กับคนอื่น ทำงานร่วมกัน หรือสร้างงานในชุมชน”

อย่างปัจจุบัน ทางยุโรปเขาวกกลับมาแล้ว หันมาสนใจเรื่องความสงบด้านจิตใจ เรื่องของมิติความเชื่อ ประเด็นวิกฤติสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องที่เขาตื่นตัวเยอะมาก ของเรา

กำลังหลงไปกับเขา เราต้องอ่านเครื่องหมายแห่งกาลเวลา ต้องวิเคราะห์ ต้องเป็นประกาศก เหมือนประกาศกสมัยก่อน อ่านเหตุการณ์ ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นจะมีผลกระทบต่อเราอย่างไร จะช่วยกันแก้ไขอย่างไร วางแผนแก้ไข พยายามที่จะให้แก่กลุ่มชาวบ้าน โดยผ่านเวทีกองบุญข้าว เพราะเราไปจัดกองบุญข้าวในเขตวัด มีนายอำเภอ ทางราชการเข้ามาร่วมด้วย เป้าหมายของเราคือการช่วยกันเยียวยาโลกที่กำลังโอดครวญ โลกที่กำลังเจ็บป่วย โลกที่กำลังอยู่ในห้องไอ.ซี.ยู. โลกก็เปรียบเสมือนแม่ของเรา ถ้าแม่กำลังป่วย กำลังไม่สบาย ลูกก็จะเจ็บป่วยตามไปด้วย เอาประเด็นของปรากฏการณ์ระดับโลก องค์การสหประชาชาติ พระสันตะปาปา พูดถึงสิ่งแวดล้อมอย่างไร คำสอนด้านสังคมว่าอย่างไร และคำเตือนของพ่อแม่ปู่ย่าตายาย บรรพบุรุษสอนเราไว้อย่างไร เราก็นำมาเชื่อมโยงให้เห็น”

“เราต้องหวนกลับมาเรื่องของแนวคิด เรื่องของการได้กินจากป่า ต้องรักษาป่า ได้กินจากน้ำ ต้องรักษาน้ำ เราต้องพยายามสร้างให้เป็นกระแส เพราะว่าสิ่งที่เราทำเป็นกระแสรอง กระแสหลักมาแรง คือเราเชื่อว่าอนาคตที่ยั่งยืนต้องประกอบไปด้วยสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน ครอบครัว สังคม การทำมาหากิน มิติทางศาสนาวัฒนธรรม เราพยายามจะเชื่อมโยงกัน”

พี่สุนทรอธิบายให้ฟังว่าหลังจบหลักสูตรเกษตรวัฒนธรรมต้องมีการประเมินผลทุกคน “บางคนอาจจะไม่ได้อยู่ทำในหมู่บ้าน คือทุกคนที่จบหลักสูตรเกษตรวัฒนธรรม ไม่ใช่ว่าทุกคนต้องไปทำเกษตร จะอยู่ในส่วนไหนของสังคม แต่เอาแนวคิดที่ได้มาไปทำในที่ที่คุณอยู่ บางคนอาจจะค้าขาย ทอผ้า บางคนอาจจะทำทั้งสองส่วน เพราะว่าบนดอยมีลักษณะของภูมิอากาศที่ต่างจากข้างล่าง อย่างหน้าแล้งไม่มีน้ำ ทำเกษตรไม่ได้ ต้องหยุดและทำอาชีพอื่น พอหน้าฝนก็ทำเกษตร อยู่ที่ทำอะไรอยู่ เอาแนวคิด การรำพึงไตร่ตรองไปใช้ อย่างคนที่ทอผ้าเขาจะใช้สีธรรมชาติ เวลาเขาจะไปเอาเปลือกไม้ในป่า จะมีพิธีขออนุญาตเจ้าป่าเจ้าเขา มีมิติภายใน มีการบ่มเพาะจิตวิญญาณ เพราะฉะนั้น หลักพวกนี้สามารถนำมาใช้ในวิถีชีวิตของแต่ละคนได้”

การทำเกษตรต้องเริ่มต้นที่ “ใจเรา”

พี่สุนทรพาไปพบกับ เจริญ ดินุ เกษตรกรรุ่นใหม่ วัย ๓๑ ปี ที่จบหลักสูตรเกษตรวัฒนธรรมรุ่นแรกเมื่อปีที่แล้วที่บ้านหนองเต่า อ.แม่วาง ตลอดสองข้างทางขึ้นดอยมีการสร้างถนนคอนกรีตเป็นระยะๆ พี่สุนทรเล่าให้ฟังว่าเมื่อก่อนการเดินทางของชาวบ้านลำบากมาก อย่างน้อยกว่าจะขึ้นลงดอยต้องใช้เวลาหลายชั่วโมง หรือบางทีเป็นวัน ถนนเป็นดินลูกรังสีแดง การเดินทางไม่ได้สะดวกสบายเหมือนทุกวันนี้

…แต่ทุกสิ่งมีสองด้านเสมอ ขณะที่ความสะดวกสบายของการเดินทางและ “ความเจริญ” เข้าไปในหมู่บ้าน เยาวชนจำนวนไม่น้อยเดินทางลงดอยออกจากหมู่บ้านเข้าสู่เมือง ความภาคภูมิใจในวิถีชีวิตที่เคยมีกลายเป็นเรื่องล้าสมัย คำสอนของบรรพบุรุษเลือนหายไป อัตลักษณ์ชนเผ่าถูกกลืนไปกับค่านิยมสมัยใหม่ในปัจจุบัน

เจริญ ดินุ เป็นอีกหนึ่งคนที่หลายปีก่อนอาจจะไม่เคยคิดที่จะทำเกษตรแบบอินทรีย์ แต่หลังจากจบหลักสูตรเกษตรวัฒนธรรม ณ วันนี้ เจริญได้นำแนวคิดที่ได้รับมาใช้ในชีวิตประจำวัน และบอกอย่างชัดเจนว่าการทำเกษตรต้องเริ่มต้นที่จิตใจ “การทำเกษตรต้องเริ่มต้นที่ใจเรา ที่ผ่านมา หมู่บ้านเราก็ทำเกษตร แต่ที่ผ่านมาเราใช้สารเคมี ไม่ใช่แบ่งชีวิตให้กับคนอื่น แต่เป็นการสร้างความทุกข์ เป็นการส่งเสริมเชื้อโรคให้กับคนอื่นมากกว่า”

“ตอนไปอบรมแรกๆ ไม่ค่อยเข้าใจ เพราะเหมือนเป็นการเรียนรู้แบบใหม่ ไม่เหมือนที่สอนในโรงเรียนทั่วไป ช่วงสองสามอาทิตย์แรกยังไม่ค่อยเข้าใจ พอผ่านไปก็ทำให้รู้ว่าเป็นการเรียนรู้แบบจริงๆ ไม่ใช่ว่าเรียนแค่ให้ได้ใบประกาศนียบัตร ไม่ใช่เรียนแค่ให้จบ แต่การเรียนที่คุณพ่อและอาจารย์สอนคือเป็นการสร้าง ปรับระบบความคิดใหม่ ค่อยๆ เริ่มทีละขั้น พอผ่านไปก็เริ่มที่จะเข้าใจ เริ่มจับประเด็นได้ เรียนกับคุณพ่อเป็นการเรียนที่ครู ลูกศิษย์ เรียนด้วยกัน กินด้วยกัน พูดคุยกัน ทุกเรื่องปรึกษาคุยกันแบบครอบครัวเดียวกัน เป็นแบบครอบครัว แบบชุมชน”

“ผมได้เรียนรู้ใหม่ คือปรับความคิดใหม่หมดเลย ยกตัวอย่างเช่น ไม่เคยรำพึง ไม่เคยคิดถึงชีวิตของตัวเอง คุณพ่อจะสอนให้รู้จักตัวเองก่อน ว่าตัวเราเป็นใคร มาจากไหน พ่อแม่ปู่ย่าตายายมีประวัติความเป็นมาอย่างไร ประวัติศาสตร์ของชุมชนเรามีอะไรบ้าง ให้รู้ว่าเรามีข้อเด่นอะไร ข้อด้อยอะไร แล้วโอกาสที่เราจะพัฒนาต่อไปมีอะไรบ้าง เริ่มแรกคุณพ่อจะสอนเกี่ยวกับการรู้จักตัวเอง พอผ่านไปเดือนสองเดือน ให้รำพึง คิดทบทวนไตร่ตรองเกี่ยวกับชีวิต เกี่ยวกับการทำมาหากิน ตอนแรกก็ไม่เข้าใจว่าเกี่ยวกับการทำเกษตรตรงไหน แต่พอผ่านไป ทำให้ผมเข้าใจว่าการที่เราจะทำเกษตรต้องเริ่มต้นที่ใจเรา” 

“ถ้าเกิดว่าเราใช้ระบบเกษตรเคมี คุณพ่อก็อธิบายให้ฟังว่าที่เป็นเกษตรวัฒนธรรมเพราะวิถีชีวิตของปกาเกอะญอ คำว่าวัฒนธรรมตั้งแต่เกิดมาก็เริ่มที่จะมีวัฒนธรรมเชื่อมโยงกับทุกสิ่ง แม้แต่แม่ธรณี ลม ต้นไม้ ดิน ฟ้า อากาศ แม่น้ำ เป็นเพื่อนร่วมโลก คนสมัยก่อนเกิดมาก็จะเอาสะดือไปผูกที่ต้นไม้ ให้เรารำพึงว่าวิถีชีวิตของปกาเกอะญอ ต้นไม้เขาก็มีชีวิต เราก็มีชีวิต จะได้เติบโตไปด้วยกัน สิ่งมีชีวิตบนโลกนี้ไม่ใช่มีแต่สัตว์ มีแต่มนุษย์ แม้แต่ระบบนิเวศสิ่งเล็กๆ ทุกอย่าง เขาก็มีชีวิต มีลมหายใจ มีการสืบทอด”

รอบตัวระหว่างการพูดคุยกับเจริญ บรรยากาศเป็นแบบธรรมชาติ มีเสียงไก่ดังตลอดเวลา ซึ่งปัจจุบันเจริญเลี้ยงไก่ เลี้ยงหมู ทำปุ๋ยหมัก และกำลังวางท่อระบายน้ำ เพื่อสามารถที่จะปลูกผัก เลี้ยงไก่ เลี้ยงปลาได้ในอนาคต ขณะที่พูดคุยกันจะมีลูกหมาตัวเล็กๆ สองตัววิ่งเล่นคลอเคลียอยู่ไม่ห่าง เจริญชี้ไปที่ลูกหมาสองตัวที่นั่งอยู่ใกล้ๆ เหมือนเป็นองครักษ์ประจำตัว เดินไปไหนจะวิ่งตามไปด้วย และบอกว่า “ถ้าเราไม่ดูแลเขาดีๆ สักวันหนึ่งเขาก็ตาย คือเรามอบความรักให้เขา เขาก็เอาความรักมาให้เรา”

“ก่อนอบรม ผมไม่เข้าใจ พอได้อบรม ความคิดเปลี่ยน ทุกวันนี้ก็รำพึง เพราะคุณพ่อบอกว่าเวลาเรารำพึง ไม่จำเป็นว่าต้องทำแต่ตอนเช้า อย่างเวลาเข้าไปนา เวลานั่งพักผ่อนก็รำพึงกับต้นไม้ ยังทำทุกวัน ทำได้ทุกเวลา หรืออย่างเวลาเราอยู่กับไก่ เราเห็นไก่ เราก็คิดและรำพึง ไก่ก็ต้องการอาหาร ต้องการน้ำ ต้องการชีวิตเหมือนเรา ไม่ว่าต้นไม้ พืชผัก จะเปรียบกับชีวิตของเราเอง เขามีชีวิต เราก็มีชีวิต”

เจริญบอกว่าหลังจบจากหลักสูตรเกษตรวัฒนธรรม มองชีวิตเปลี่ยนไป “เรามาอยู่ เราได้มาอาศัย เรามาแค่ชั่วคราว ถ้าเราไม่ดูแลรักษา ผลกระทบจะตามมา คนเรามีแม่ผู้ที่ให้กำเนิด และแม่ธรณี มีการปลูกพืชผัก ก็เป็นการบริโภค และเรายังมีแม่น้ำ ที่ให้ชีวิตเรา เวลาที่เรากระหาย เราก็กินดื่ม เมื่อก่อนเรามีตา แต่มองไม่เห็น”

นอกจากนี้สิ่งที่น่าสนใจก็คือ เจริญมีความคิดที่จะนำภูมิปัญญาของบรรพบุรุษกลับคืนมาโดยผ่านทางเสียงเพลง มีการแต่งเพลงเอง ทำเตหน่าเครื่องดนตรีชนเผ่าปกาเกอะญอเองร่วมกับเพื่อน มีไปแสดงที่อื่นหลายแห่งก็ใช้เสียงเพลงบอกเล่าอัตลักษณ์ของชนเผ่าปกาเกอะญอสู่ผู้คน

เลยอยากฟังเพลงที่เจริญแต่งสักหนึ่งเพลง โดยเจริญบอกว่าเนื้อเพลงเป็นคำร้องเดิมมาจาก “บททา” ที่เป็นคำสอนของบรรพชน แต่ทำนองแต่งใหม่โดยเนื้อเพลงบอกเล่าไว้ว่า 

“น้ำจะเสียแล้วนะเอ๋ย  ดินจะเสียแล้วนะเอ๋ย 
ไก่ขันไม่เป็นเวลา  นกร้องไม่เป็นเวลา 
มองไปข้างหน้า  ผืนแผ่นดินกว้างไกล 
นางเดินลับไป  นางร้องห่มร้องไห้ 

น้ำจะเสียช่วยกันรักษา  ดินจะเสียช่วยกันรักษา 
ร่วมมือร่วมกันสร้าง  มาร่วมช่วยกันเถิดหนา 
นานๆ เข้าจะพออยู่พอกิน 
นานๆ เข้าจะพออยู่พอกิน”

เจริญบอกว่ากินน้ำก็ต้องรักษาน้ำ กินจากป่าก็ต้องรักษาและดูแล กินปลาก็ต้องรักษาแม่น้ำ เวลาไปเวทีไหนก็จะใช้แนวนี้ เพราะพื้นที่ชุมชนแต่ละที่ก็จะได้ตระหนักถึงเรื่องธรรมชาติ “บางที่แม้แต่เครื่องดนตรีเขาก็ไม่เคยเห็น อย่างไปที่เชียงราย เขาไม่รู้ว่านี่คืออะไร ซึ่งเตหน่าเป็นเครื่องดนตรีของปกาเกอะญอ แต่ว่าเขาก็ไม่เคยเห็น บางที่ไม่มีคนเล่นแล้ว”

“ตอนนี้กำลังแต่งเพลงเกี่ยวกับเกษตรวัฒนธรรม เกี่ยวกับความเชื่อ ข้าว กำลังรวบรวม มีเพื่อนช่วยกัน เด็กเวลาฟัง เขาสนใจ เพลงปกาเกอะญอไม่ได้ฟังแล้วสนุกอย่างเดียว แต่ยังให้แนวคิด ให้ข้อคิด ทำเตหน่าเป็นรูปนกกก นกเงือก ไปที่งานมหกรรมเตหน่า สัญลักษณ์คือนกเงือก คือวิถีชีวิตปกาเกอะญอ ตอนนี้ก็ลักษณะคล้ายๆ แบบนกเงือก ใกล้ที่จะสูญพันธุ์แล้ว คือถ้ากลับไปมองเกี่ยวกับประวัติ ความคิด ชีวิตของนกเงือก ซึ่งเป็นสัตว์ที่มีความรัก ปกาเกอะญอบอกว่าเวลาที่นกเงือกหรือชะนีตายหนึ่งตัว ป่าจะว้าเหว่ วังเวง แต่ถ้าที่ตรงไหนมีนกเงือกหรือชะนี แสดงว่าป่าตรงนั้นสมบูรณ์ แต่ตอนนี้นกเงือกใกล้จะสูญพันธุ์ เราต้องเอากลับมาให้คนเห็นว่านกเงือกเป็นยังไง ชีวิตของปกาเกอะญอตอนนี้ไปทางด้านทุนนิยมหรือวัตถุนิยมเยอะ เราต้องกลับมาในเกษตรที่ให้ชีวิต การแบ่งปัน ตอนนี้วิถีชีวิตปกาเกอะญอเปลี่ยนแปลงไปหลายด้าน ทั้งด้านความสัมพันธ์ของชุมชน สังคม การศึกษา เปลี่ยนหมด แต่บางอย่างก็ยังพอที่จะกลับมาแบบพี่แบบน้อง ตอนนี้กำลังจะฟื้นระบบกลุ่มเยาวชน ให้คนที่ไปข้างนอกกับคนที่อยู่ในชุมชนมีความสัมพันธ์กัน เชื่อมโยงกัน จะได้ช่วยเหลือกัน กำลังคุยกับเพื่อนอยู่ ต้องค่อยๆ เริ่ม ต้องใช้เวลา”

หลังจากคุยกับเจริญ มีโอกาสคุยกับ ลุงสมหมาย ทอเทอะวัย ๕๔ ปี เกษตรกรที่เคยอบรมกับศูนย์สังคมพัฒนา สังฆมณฑลเชียงใหม่ ตั้งแต่ปี ๒๕๓๓ ปัจจุบันลุงสมหมายปลูกข้าว ปลูกผัก ทำนา ๓ แปลง ปลูกสตรอเบอรี่ เสาวรส ไม่ใช้สารเคมี โดยทำเกษตรอินทรีย์มายาวนานประมาณ ๒๐ ปี และมีตลาดเองด้วย “ขายที่โรงพยาบาลแม่วาง ๓ ปี ตลาดแรกคือโรงเรียนเรยีนาเชลี และโรงเรียนพระหฤทัยคอนแวนต์ เชียงใหม่ ขายมาประมาณ ๒๐ ปีแล้ว”

“ช่วงที่คุณพ่อนิพจน์เป็นเจ้าวัดพระหฤทัยฯ เชียงใหม่ และดูแลโรงเรียนด้วย ท่านมีนโยบายว่าให้ผู้ปกครองนักเรียน คุณครูไปสัมผัสกับชาวบ้านว่า

ชาวบ้านเขาทำอะไร เขาก็เอา ผู้ปกครอง นักเรียน ครูไปสัมผัสชีวิตที่หมู่บ้าน ได้เห็นชาวบ้านฐานะไม่ค่อยดี แต่ปลูกผักปลอดสารพิษ เกิดความคิดว่าผู้ปกครองจะสนับสนุนชุมชนอย่างไร ทางโรงเรียนก็เลยเอาผลผลิตจากชุมชนมาขายในโรงเรียนได้ เป็นการพบกันระหว่างชาวบ้านกับผู้บริโภค มาดูในแปลงได้ว่าปลอดสารพิษจริงไหม ผู้ปกครองจะได้มั่นใจ และได้เห็นของจริง” 

ปัจจุบัน นอกจากเป็นเกษตรกรแล้ว ลุงสมหมายยังเป็นวิทยากรให้กับกลุ่มเกษตรกรในหลายหมู่บ้าน “สอนทำปุ๋ยหมักในเชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน สอนที่หมู่บ้าน หลายหมู่บ้าน เป็นเครือข่าย มีทั้งชาวบ้าน เยาวชน เรียนครั้งหนึ่งเยอะมาก คนสนใจเยอะ หลายคนเลิกทำเกษตรแบบเคมี”

หลังคุยกันที่บ้านเสร็จเรียบร้อย ลุงสมหมายพาเดินไปดูสวนสตรอเบอรี่และเสาวรสที่อยู่ห่างออกไปไม่ไกลนัก ระหว่างทาง มองเห็นความเรียบง่ายของวิถีชีวิตของชาวบ้านที่กำลังร่วมกันสร้างบ้านหลังหนึ่งอย่างไม่คิดค่าตอบแทนใดๆ ทุกคนต่างเต็มใจช่วยเหลือเกื้อกูลกันเหมือนเป็นญาติและพี่น้องกัน

…บางทีคำตอบของชีวิตและการพัฒนาประเทศคงเป็นเช่นนั้น ไม่ได้อยู่ที่วัตถุและความเจริญมั่งคั่งทางเทคโนโลยีอย่างที่เราส่วนใหญ่กำลังหลงทาง

———–

 เตหน่า เป็นเครื่องดนตรีประเภทดีดของชนกลุ่มน้อยเผ่ากะเหรี่ยง หรือยาง ซึ่งเรียกตนเองว่า ปกาเกอะญอ อาศัยอยู่ทางภาคเหนือตอนบนของประเทศไทย เตหน่ามีคอยาวโค้งงอคล้ายพิณของพม่า มี ๖ สาย ทำจากโลหะ ยึดติดกับลูกบิดพาดจากคอพิณมาถึงลำตัว มีความสั้น-ยาวไม่เท่ากัน จึงทำให้เกิดระดับเสียงที่แตกต่างกัน ส่วนใหญ่จะดีดด้วยนิ้ว ตัวพิณเป็นกล่องด้านในกลวงเป็นกระพุ้งเสียง ทำจากวัสดุที่หาได้ในท้องถิ่น เป็นเครื่องดนตรีที่ใช้ในชีวิตประจำวันและใช้ประกอบในพิธีกรรมสำคัญต่างๆ อาจจะใช้บรรเลงอย่างเดียว หรือประกอบการขับร้องด้วยก็ได้ 

——————————

จาก วารสารผู้ไถ่ ปีที่ ๓๖ ฉบับที่ ๙๗ 
ไม่มีทาสอีกต่อไป หญิงชายทั้งผองพี่น้องกัน

http://www.jpthai.org/content/view/815/42/